วันที่ 23 ก.ย.2556 ที่โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต จ.ภูเก็ต มร.เว่ย จี จง รองประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ในฐานะประธานฝ่ายเทคนิคกีฬาโอซีเอ เป็นประธานการประชุมความร่วมมือของคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนบีชเกมส์ ครั้งที่ 4 มีนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายณัฐวุฒิ เรืองเวส ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาเป็นเลิศ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นายวิรัช พาที ผอ.ศูนย์การการแห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต นายสาโรจน์ อังคณาพิลาศ นายกสมาคมกีฬาจังหวัดภูเก็ต และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมประชุม
ทั้งนี้ สาระสำคัญที่ประชุมได้มีการอนุมัติให้เพิ่มประเภทกีฬาอีก 5 ชนิดเข้าไป ได้แก่ ปัญจกีฬาสมัยใหม่, ฟุตวอลเลย์, กรีฑาชายหาด, เพาะกายชายหาด และแฟล็กบอล (อเมริกันฟุตบอลชายหาด) โดยให้ใช้สนามเดิมที่มีการเตรียมไว้ 6 จุดใช้แข่งเหมือนเดิม ไม่มีการสร้างสนามขึ้นมาใหม่ แต่ให้ลดจำนวนอีเวนต์ของกีฬาที่บรรจุไปก่อนหน้านี้ลง เพื่อต้องการให้ร่นระยะเวลามาแข่งอีก 5 ชนิดกีฬาที่เพิ่มมาใหม่นี้ได้ ล่าสุด จากการเพิ่มอีก 5 กีฬาใหม่เข้าไป ทำให้ตอนนี้ศึกเอเชียนบีชเกมส์ ครั้งที่ 4 บรรจุแข่งขันแล้วถึง 23 ชนิดกีฬา ได้แก่ กีฬาทางน้ำ (โปโลน้ำ, ว่ายน้ำมาราธอน) แฮนด์บอลชายหาด, กาบัดดี้ชายหาด, วอลเลย์บอลชายหาด, วู้ดบอลชายหาด, เรือใบ-วินด์เซิร์ฟ, บาสเกตบอลชายหาด, เปตองชายหาด, เซปักตะกร้อชายหาด, ฟุตบอลชายหาด, มวยปล้ำชายหาด-คูราช, มวยไทย, เจ็ตสกี, ไตรกีฬา, สกีน้ำ, ปีนหน้าผา, เอ็กซ์ตรีม, กีฬาทางอากาศ, ปัญจกีฬาสมัยใหม่, ฟุตวอลเลย์, กรีฑาชายหาด, เพาะกายชายหาด และแฟล็กบอล แข่งขันระหว่างวันที่ 14-21 พฤศจิกายน ปี 2557
นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เมืองภูเก็ตเจ้าภาพได้เตรียมจัดงานนับถอยหลังสู่เอเชียนบีชเกมส์ ในปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนสนใจการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ให้มากยิ่งขึ้น การเตรียมการในตอนนี้ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอนลำดับ เชื่อมั่นว่าจะสามารถประกาศความพร้อมช่วง 3 เดือนข้างหน้าก่อนที่การแข่งขันจะเปิดฉากขึ้น “เป้าหมายของผมในบีชเกมส์ คือ การสร้างโอกาส และรายได้ให้ชาวจังหวัดภูเก็ตโดยกำเนิด จำนวน 363,000 คน ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ คนขับแท็กซี่ หรือทุกสาขาอาชีพ เพราะเกมนี้เป็นกีฬาที่จัดในภูเก็ต จึงอยากให้ประโยชน์ตกไปถึงรากหญ้าท้องถิ่นด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เจ้าของธุรกิจใหญ่ๆ แค่โรงแรม และการท่องเที่ยวเท่านั้น” นายไมตรี กล่าว
ขณะที่ นายณัฐวุฒิ เรืองเวส ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาเป็นเลิศ การกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อมีการเพิ่มชนิดกีฬาเข้าไปอีก ทำให้ต้องมีการปรับแผนการแข่งขันกันใหม่ หลายชนิดกีฬาต้องลดจำนวนเหรียญทองลงไป เพื่อลดวันแข่งขันให้น้อยลง และใช้สนามแข่งกีฬาอื่นๆ ด้วย ในส่วนของการจัดแข่งขันปัญจกีฬาสมัยใหม่, กรีฑาชายหาด และแฟล็กบอล ที่ไม่มีสมาคมกีฬาในประเทศไทยนั้น จะต้องให้โอซีเอเข้ามาดูแล และสหพันธ์กีฬาทั้ง 3 ชนิดที่มีอยู่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ เองทั้งหมดเพื่อให้การแข่งขันในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี